สยามสโกเย ปาโซลสตวา  ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
 
โดย  วัฒนะ คุ้นวงศ์
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก
 

 

 
 

          ใครก็ตามที่ได้ไปประเทศรัสเซีย  น้อยคนนักที่จะไม่ไปเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  และส่วนใหญ่ที่ไปจะรู้จักดีถึงปีเตอร์ฮอฟ (Peterhof) พระราชวังฤดูร้อนของพระเจ้าซาร์     วังเซนต์แคเธอรีน (Catherine’s Palace) ที่ประทับของพระนางเจ้าแคเธอรีนมหาราช   และเฮอร์มิเตจ (The Hermitage) พระราชวังฤดูหนาวที่เลื่องชื่อ   มีไม่น้อยที่ไปไกลถึงวังยูซูปอฟ (Yusupov)  คฤหาสน์ของเจ้าชายเฟลิกซ์ (Felix Yusupov) ยูซูปอฟ สถานที่สังหารรัสปูติน (Rasputin) พระผู้อื้อฉาว  แต่เชื่อว่าทุกคนที่ไปถึงนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  ยากเต็มทีที่จะหาใครสักคนที่พอจะรู้ว่า ถัดจากพระราชวังฤดูหนาวไปทางซ้ายเพียงแค่ช่วงตึกเดียวเท่านั้น มีตึกสีน้ำตาลหม่นๆ ตั้งอยู่  และตึกนี้เมื่อร้อยปีที่แล้ว คือที่ตั้งของสถานราชทูตไทยประจำประเทศรัสเซีย

          สถานราชทูตไทย มีที่อยู่ทางการเป็นตึกเลขที่ 6  ถนนเลียบฝั่งแม่น้ำกระทรวงราชนาวี เป็นตึกที่มีทรงสถาปัตยกรรมแบบ Eclectic  ทาสีแดงอมน้ำตาล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนียวา (Neva)  แม่น้ำสายสำคัญของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก   ตึกนี้ตั้งอยู่ในหมู่เดียวกับตึกที่ทำการของกระทรวงราชนาวีรัสเซีย   และอยู่ถัดจากพระราชวังฤดูหนาว วังหลวงที่จักรพรรดิรัสเซียแห่งราชวงศ์โรมานอฟตั้งแต่พระนางเจ้าแคเธอรีนมหาราช เป็นต้นไปทุกพระองค์ใช้เป็นที่ประทับ ออกไปเพียงแค่สองหลัง    โดยมีตึกเลขที่ 2 ซึ่งเป็นที่ทำการของกระทรวงราชนาวีของรัสเซียและตึกเลขที่ 4 ซึ่งเป็นโรงละครหลวงคั่นอยู่เพียงสองตึกเท่านั้น ราวกับจะบอกให้ใครๆ รู้ว่า สยามแม้จะไกลถึงเอเชีย แต่ก็อยู่ในสายตาของจักรพรรดิรัสเซีย

          ตึกเลขที่ 6 หลังนี้เป็นตึก 5 ชั้น สร้างในระหว่างปีค.ศ.1879-1880 โดยเจ้าของตึกเป็นสุภาพสตรีชื่อนางตาติยานา มาคาโรว่า สร้างเพื่อให้เช่าอยู่อาศัย ดังนั้นการออกแบบโครงสร้างภายในตัวตึกจึงมีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัยตามคติของคนยุโรปที่มีการแบ่งเนื้อที่ใช้สอยในตัวตึกให้เป็นส่วนๆแบบอพาร์ตเมนต์ในปัจจุบัน ซึ่งอาจดัดแปลงให้เป็นที่อยู่อาศัยก็ได้ หรือจะเป็นสำนักงานก็ได้  ฉะนั้น ตัวตึกจึงมีผู้คนอาศัยมากกว่าหนึ่งครอบครัว หรือถ้าเป็นที่ทำการ ก็จะมีมากกว่าหนึ่งสำนักงานตั้งอยู่ในบ้านเลขที่ 6 นี้

          ที่ตั้งของสถานราชทูตไทย ตั้งอยู่บนชั้นที่สองของตึก  ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 700 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น สำนักงานสถานราชทูต และทำเนียบของอัครราชทูตผู้เป็นหัวหน้าสำนักงาน ในสัดส่วนของพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน  แม้ว่าไทยและรัสเซียจะได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1897 ซึ่งก็คือปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสรัสเซียอย่างเป็นทางการ  และแม้ว่าจะมีหลักฐานบ่งบอกว่ารัฐบาลสยามได้แต่งตั้งราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กคนแรกตั้งแต่ปลายปีค.ศ. 1897 แล้ว  แต่กว่าที่ตึกเลขที่ 6 หลังนี้ จะเป็นสำนักงานของสถานราชทูตไทยอย่างเป็นทางการ ก็ล่วงเลยไปจนถึงปีค.ศ.1900

          ราชทูตไทยคนแรกประจำประเทศรัสเซียคือพระยาสุริยานุวัตร เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำกรุงปารีสและได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศรัสเซียโดยมีถิ่นที่พำนักในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 16  พฤศจิกายน ค.ศ.1897  โดยดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึงปี ค.ศ. 1989   รัฐบาลสยามจึงได้ส่งพระชลบุรีนุรักษ์มาเป็นราชทูตคนที่สองประจำประเทศรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 12   พฤศจิกายน ค.ศ. 1989  และเป็นราชทูตคนแรกของไทยที่มีถิ่นที่พำนักในประเทศรัสเซีย

          อย่างไรก็ตาม แม้พระชลบุรีนุรักษ์จะได้รับการเลื่อนยศขึ้นมาเป็นพระยามหิบาลบริรักษ์และมีตำแหน่งทางการทูตเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศรัสเซีย แต่ก็มีฐานะเป็นผู้แทนส่วนพระองค์ประจำราชสำนักมากกว่าที่จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของไทยประจำประเทศรัสเซียอย่างเป็นทางการ   เข้าใจว่าราชทูตท่านนี้พำนักอยู่ในพระราชวังฤดูหนาว   ทั้งนี้  น่าจะเป็นกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐเป็นความสัมพันธ์พิเศษ(1)ระหว่างราชวงศ์เพื่อบรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองในเวลานั้น เนื่องจากมีหลักฐานการยื่นพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ให้แก่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 โดยตรงจากพระมหิบาลบริรักษ์ โดยไม่ผ่านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแต่อย่างใดหลายฉบับ และขณะเดียวกันก็เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการให้พระยามหิบาลบริรักษ์ทำหน้าที่อภิบาลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ(2)ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็กคอร์ เดอ ปาฌ(3) และทรงประทับอยู่ในพระราชวังฤดูหนาวในฐานะพระโอรสบุญธรรมของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2  เป็นประการสำคัญด้วย

          หลักฐานที่ระบุว่าคณะทูตไทยในสมัยของพระมหิบาลบริรักษ์มีที่ทำการอยู่ที่ตึกเลขที่ 6 พร้อมกับการย้ายที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถจากพระราชวังฤดูหนาวมาที่ชั้น 2 ของตึกเลขที่ 6 นี้ ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อต้นเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1900  จากจดหมายของนายพุ่ม(4)ที่เขียนถึงนายพาเวล อาดราเชฟ ครูสอนภาษารัสเซียของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1900(5) และจดหมายของนายพุ่ม ถึง ครูภาษารัสเซียคนเดียวกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1900 ซึ่งหัวจดหมายระบุคำว่า          สยามสโกเย ปาโซลสตวา (Siamskoye Posolstvo) หรือ “สถานราชทูตสยาม” เป็นครั้งแรกและถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ระบุว่าตึกเลขที่ 6 นี้ เป็นสำนักงานสถานราชทูตไทยอย่างเป็นทางการ  การย้ายที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ น่าจะมีเหตุผลสำคัญมาจากการเสด็จเยือนรัสเซียของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจากประเทศอังกฤษ เพื่อมาทรงเยี่ยมพระอนุชา ระหว่างวันหยุดคริสต์มาสปีค.ศ. 1899 ถึงวันที่  10 มกราคม ค.ศ.1900  ซึ่งรัสเซียถือว่าเป็นการเยือนระดับราชวงศ์ของไทยที่สำคัญที่สุดนับจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1897 เป็นต้นมา(6) สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธได้รับพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่  2  และเข้าเฝ้าพระมเหสีอเล็กซานดร้า ฟีโยดอรอฟน่า เป็นการส่วนพระองค์ด้วย  และมีหลักฐานระบุว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงประทับอยู่ที่บ้านเลขที่ 6 นี้ตลอดการเยือน

          พระยามหิบาลบริรักษ์เป็นหัวหน้าสำนักงานสถานราชทูตไทยจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1902   ก็พ้นจากตำแหน่ง  และรัฐบาลสยามได้ส่งอัครราชทูตมาปฏิบัติงานที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยมีสำนักงานที่บ้านเลขที่ 6 นี้อีก 3 ท่านได้แก่ พระยาศรีธรรมศาสน์(ค.ศ.1903-ค.ศ.1909)  พระยาสุธรรมไมตรี(ค.ศ.1909-ค.ศ.1913) และพระวิศาลพจนกิจ(ค.ศ.1914-ค.ศ.1917)

          รัฐบาลสยามมีเจ้าหน้าที่การทูตปฏิบัติหน้าที่ในบ้านเลขที่ 6 หลังนี้ตลอดระยะเวลา 18  ปี (ค.ศ.1899-ค.ศ.1917) จำนวน 11 คน โดยมีชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในคณะทูตไทย 2 คน คือ M. Corragioni d’ Orelli ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในสมัยที่พระยาสุริยานุวัตร เป็นอัครราชทูตในปี ค.ศ. 1897  และ  M. Georges Cuissard de Grelle ซึ่งทำหน้าที่ในตำแหน่งแรกคือล่ามในสมัยพระยามหิบาลบริรักษ์ในปีค.ศ.1899  และมีความก้าวหน้าเป็นลำดับโดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเอกในสมัยของพระยาศรีธรรมศาสน์ปี ค.ศ.1905 และเป็นที่ปรึกษาในสมัยของพระยาสุธรรมไมตรี ระหว่างปีค.ศ. 1912-ค.ศ.1914   มีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ การมีผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำสถานราชทูตซึ่งกว่าที่รัฐบาลสยามจะได้ส่งร้อยเอกพระทรงสุรเดช มาดำรงตำแหน่งเป็นคนแรก เวลาก็ล่วงเลยมาจนถึงปีค.ศ. 1912 แล้ว ซึ่งตรงกับสมัยที่พระสุธรรมไมตรีเป็นอัครราชทูต   อาจสันนิษฐานได้ว่า การส่งข้าราชการสายทหารมาประจำที่ประเทศรัสเซียน่าจะเป็นความประสงค์ของรัฐบาลสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ให้มาทำงานการข่าวเพื่อติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังล่อแหลมในประเทศรัสเซีย  รวมทั้งเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนสยามในรัสเซียที่สนับสนุนการปฏิวัติด้วย ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวสัมพันธ์กับการปฏิวัติประชาธิปไตย(7)ที่นำโดยดร.ซุนยัดเซนในประเทศจีน(ค.ศ. 1911) และเป็นเวลาเดียวกันกับที่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่บทความพระราชนิพนธ์เรื่อง “ลัทธิเอาอย่าง” เพื่อปรามกระแสปฏิวัติในกลุ่มข้าราชการยังเติร์กของสยามด้วย  ผู้เขียนเชื่อว่ากระแสความคิดปฏิวัติคงซึมซ่านอยู่ในหัวของนักเรียนสยามในรัสเซียจริง  เพราะนายพุ่มเองก็เป็นนักเรียนสยามคนหนึ่งที่เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายทหารเสนาธิการแล้ว ก็ตัดสินใจไม่กลับประเทศ แต่เข้ารับราชการในกองพันทหารม้ารัสเซีย และแม้จะเป็นความจริงว่านายพุ่มหนีออกจากรัสเซียภายหลังเมื่อเกิดการปฏิวัติ แต่นายพุ่มก็เคยเข้าร่วมกับนายทหารรัสเซียฝ่ายนิยมการปฏิวัติอยู่ช่วงหนึ่งเช่นกัน(8)

          แต่เดิมมีความเข้าใจกันว่ารัฐบาลสยามยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศรัสเซียในปีค.ศ. 1917  แต่จากการสืบค้นเพิ่มเติมในเอกสารนามสงเคราะห์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พบว่า รัฐบาลสยามมิได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียในปี ค.ศ. 1917  หรือทันทีที่พรรคบอลเชวิคของเลนินเข้ายึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ  คณะทูตไทยเพียงแต่ย้ายที่ทำการจากตึกเลขที่ 6 ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 ไปอยู่ที่เมืองโวล๊อกดา(Vologda) และเมืองอาร์คานเกลส์ (Arkhangels) ตามลำดับ แล้วจึงถอนตัวออกจากรัสเซียในช่วงปีปลายค.ศ. 1918  สันนิษฐานว่ารัฐบาลสยามยังไม่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตในปีค.ศ. 1917  ในทันที แต่ให้ติดตามสถานการณ์ในรัสเซียโดยใกล้ชิด โดยเฉพาะชะตากรรมของพระเจ้าซาร์นิโคลัสและครอบครัวที่ถูกฝ่ายบอลเชวิคจับกุม จนแน่ใจว่ารัสเซียเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างแน่นอนแล้ว จึงถอนสถานราชทูตออกจากรัสเซียอย่างเด็ดขาด

          ภายหลังการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย ตึกเลขที่ 6  ได้ถูกยึดเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลสังคมนิยมและปรับผังของสถานราชทูตในชั้นที่ 2 ให้เป็นอพารต์เมนต์แบบคอมมูนสำหรับผู้มีรายได้น้อยเข้าอยู่อาศัยจนถึง ปี ค.ศ. 1970 คณะกรรมการบริหารทรัพย์สินของนครเลนินกราด(9)มีมติให้ทุบทำลายตึกหลังนี้ทิ้งเนื่องจากที่ตั้งของบ้านบดบังทัศนียภาพของตึกกระทรวงราชนาวี  แต่ไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากผู้บริการนครมีงบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินการทุบทำลายตึก  ตึกเลขที่ 6 จึงตั้งเด่นเป็นสง่ามาจนถึงทุกวันนี้

          ตึกเลขที่  6 แม้ในปัจจุบันก็ยังจัดว่าตั้งอยู่ในทำเลเกียรติยศแห่งหนึ่งของนครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก   ติดกับพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจซึ่งก็คือพระราชวังฤดูหนาวในอดีต  ตึกหมายเลข 2  คือกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งก็คือกระทรวงราชนาวีในอดีต  ตึกหมายเลข 8 ถัดออกไปคืออดีตวังของเจ้าชายมิฮาอิล มิไฮโลวิชซึ่งมีชะตาชีวิตคล้ายคลึงกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ที่แอบไปสมรสนอกประเพณีกับสามัญชนชาวต่างชาติจนถูกเพิกสิทธิ์การขึ้นครองอำนาจในเวลาต่อมา(10) ถัดออกไป คือ ตึกหมายเลข 10 อดีตบ้านพักของนายจอร์ช ลารอช ศิษย์เอกชาวฝรั่งเศสของคีตกวีรัสเซียปีเตอร์ ไชคอฟสกี้  และฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเนียวา เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

          ปัจจุบัน  ในตัวตึกเลขที่ 6 แบ่งเป็นที่ทำการของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง  เป็นสำนักงานทางธุรกิจสำหรับหลายบริษัท  และบางส่วนยังเป็นอพารต์เมนต์สำหรับการเช่าอาศัย  สำหรับพื้นที่ชั้นที่ 2  ของบ้านซึ่งแต่เดิมเป็นสถานราชทูตสยามและทำเนียบราชทูตสยามนั้น ยังคงเป็นอพารต์เมนต์อยู่จน ณ วันนี้

 
 

1.แม้จะมีความเข้าใจโดยทั่วไปว่าการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ของรัชกาลที่ 5 มีจุดประสงค์เพื่อสร้างพันธมิตรกับผู้นำประเทศในยุโรปโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทั้งกับขั้วพันธมิตรฝรั่งเศส-รัสเซีย และกับขั้วทรอยก้า (Troika) เยอรมัน-ออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำยุโรปที่เป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน  แต่ยังมีเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของนโยบายสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจดังกล่าว ซึ่งก็ คือการสร้างพันธมิตรที่ลึกซึ้งกับผู้นำของทั้งสองขั้วไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตามที่ยินดีทำหน้าที่ประกันเอกราชให้แก่สยามซึ่งหมายถึงรัสเซียและเยอรมนี ทั้งนี้ มีเอกสารที่เชื่อถือได้หลายฉบับระบุถึงการเจรจาระหว่างผู้นำที่จะยินยอมให้รัสเซียใช้สยามเป็นสถานีเชื้อเพลิงสำหรับกองทัพเรือรัสเซียในการปฏิบัติภารกิจในมหาสมุทรแปซิฟิก และให้เยอรมนีใช้เกาะปีนังตั้งฐานทัพเรือเพื่อควบคุมเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ในมหาสมุทรอินเดีย 

 

2.สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1882   เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศรัสเซียเมื่อปีค.ศ. 1898  เมื่อพระชนมพรรษา 16 ปี  เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps de Pages และสำเร็จการศึกษาเมื่อปีค.ศ. 1902  ด้วยคะแนนสูงสุดของรุ่นและมีพระนามติดบอร์ดของโรงเรียนซึ่งยังปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้  จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายทหารเสนาธิการ ระหว่างปีค.ศ. 1903-1905    ทรงพระยศเป็นพันเอกพิเศษของกองทัพบกรัสเซียและเป็นนายทหารในกรมทหารม้ารักษาพระองค์ก่อนเสด็จกลับประเทศสยาม

 

3.โรงเรียน Corps de Pages เป็นชื่อฝรั่งเศสและชื่อทางการของโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก   การใช้ภาษาฝรั่งเศสเรียกชื่อโรงเรียนเป็นเพราะค่านิยมของสังคมรัสเซียในสมัยศตวรรษที่ 18-19 ที่ถือว่าภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาของสังคมชั้นสูงในขณะที่ภาษารัสเซียจะใช้สื่อสารกันในสังคมระดับล่างและชาวนา  

 

4.นายพุ่ม มีชื่อเต็มว่า พุ่ม สาคร  เป็นสามัญชน และนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงจากโรงเรียนเทพศิรินทร์  ไปศึกษาวิชาการทหารที่รัสเซียรุ่นเดียวกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกให้เป็นนักเรียนคู่แข่งและพระสหายของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ และศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนเดียวกันจนจบการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการในประเทศรัสเซีย   ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว  นายพุ่มตัดสินใจไม่กลับประเทศ  ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวรัสเซีย และหันมานับถือศาสนารัสเชี่ยนออร์โธดอกซ์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นนายนิโคลัย พุ่มสกี้ (Nikolai Pumsky) และเข้ารับราชการในกองทัพบกรัสเซียจนมียศเป็นพันเอก   ต่อมาได้หันไปร่วมกับนายทหารรัสเซียที่นิยมการปฏิวัติอยู่พักหนึ่ง  แต่ได้หลบหนีออกจากประเทศรัสเซียไปประเทศฝรั่งเศสเมื่อเกิดการปฏิวัติในประเทศรัสเซียในปีค.ศ. 1917 และใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่ประเทศอังกฤษก่อนถึงแก่กรรมในปีค.ศ. 1947

 

5.จดหมายของนายพุ่มถึงครูสอนภาษารัสเซียฉบับวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1900 ยังมีหัวหนังสือเป็นพระราชวังฤดูหนาวอยู่ แต่ระบุเป็นครั้งแรกว่าได้ย้ายมาอยู่ทีอพาร์ตเมนต์หลังใหม่แล้ว ส่วนฉบับที่สองวันที่ 19 มีนาคมค.ศ. 1900 มีหัวหนังสือเป็นชื่อสถานราชทูตไทย เลขที่ 6 ถนนเลียบแม่น้ำกระทรวงราชนาวี  กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 

 

6.สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในระหว่างเสด็จประเทศรัสเซียได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแล้ว

 

7.การปฏิวัติปีค.ศ. 1911 ในประเทศจีน อยู่ในกระแสเดียวกันกับการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งเริ่มต้นที่ฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1789   การปฏิวัติในยุโรปปีค.ศ. 1948  การปฏิวัติเมจิ ปี ค.ศ. 1867   การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917  และอาจรวมการปฏิวัติ 2475 ในประเทศไทยด้วย   โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การยกเลิกระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชและสถาปนาระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมา

 

8.การปฏิวัติในจีนมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อพัฒนาการทางการเมืองในเอเชียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ในประเทศที่มีสถานะเป็นเมืองขึ้น เช่น อินเดีย และเวียดนาม แต่มิใช่ในสยาม เพราะการที่สยามมิได้ตกเป็นเมืองขึ้น จึงมิได้สร้างเงื่อนไขสำคัญของปฏิวัติให้เกิดขึ้น  การปฏิวัติ 2475 มีปัจจัยมาจากอิทธิพลความคิดประชาธิปไตยตะวันตกซึ่งแพร่เข้ามาพร้อมกับนักเรียนทุนที่กลับจากศึกษาในประเทศยุโรปโดยเป็นปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนปัจจัยภายในคือสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสยาม  อย่างไรก็ตาม  ในสยาม ได้เกิดขบวนการนิยมจีนในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลและดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนขบวนการก๊ก มิน ตั๋งที่ขึ้นมาปกครองประเทศจีน  ต่อมาส่วนที่เป็นปีกซ้ายสุดของขบวนการนิยมจีนในสยามสนับสนุนการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาสยามขึ้นในปี 2472   ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นฐานสำหรับการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (Maoist) ในปี 2504

 

9.เลนินกราดเป็นชื่อเดิมของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน   ชื่อกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเปโตรกราดเมื่อปีค.ศ. 1914 เพื่อชำระล้างความเป็นเยอรมนีซึ่งเป็นขั้วปฏิปักษ์กับรัสเซียตั้งแต่ที่สองประเทศได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ออกจากสังคมรัสเซียเนื่องจากชื่อเมืองที่ลงท้ายด้วย “เบิร์ก” ให้ความหมายที่เป็นเยอรมนีมากกว่ารัสเซีย  ต่อมารัฐบาลสังคมนิยมรัสเซียได้เปลี่ยนชื่อกรุงเปโตรกราดมาเป็นเลนินกราดตั้งแต่ปีค.ศ. 1924 ( จนถึงปีค.ศ. 1991) เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของนายวลาดิมีร์ เลนินผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยม   และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปีค.ศ. 1991  เมืองเลนินกราดถูกเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบันนี้

 

10.เจ้าชายมิฮาอิล มิไฮโลวิช ได้รับการสถาปนาเป็นพระยุพราชในสมัยพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แอบไปอภิเษกสมรสนอกประเทศกับ Countess de Torby  ชาวอังกฤษ ในปีค.ศ. 1891  ซึ่งพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ไม่ยอมรับการอภิเษกสมรสครั้งนี้ โดยไม่อนุญาตให้ Countess de Torby  เข้าประเทศรัสเซีย   ส่วนจ้าชายมิฮาอิล มิไฮโลวิชถูกตัดสิทธิ์การสืบราชสมบัติ

 
 
 
  …………………………
 
 

          เอกสารอ้างอิง

          1. เอกสารจากหอเอกสารประวัติศาสตร์แห่งชาติ  นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หมวดสมัยก่อนการปฏิวัติค.ศ. 1917 พิพิธภัณฑ์เอกสารประวัติศาสตร์นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก   แฟ้มหมายเลขที่ 66 ถึงหมายเลขที่ 115   แผนกหมายเลขที่ 110 และ หมายเลขที่ 889  

          2. วารสารรายปีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระหว่างปีค.ศ. 1898-ค.ศ. 1917 พิพิธภัณฑ์เอกสารประวัติศาสตร์กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กรุงมอสโก

          3. เอกสารอนุสรณ์สถาปัตยกรรมเลนินกราด  พิมพ์ปีค.ศ. 1975   หน้า 488

          4. หนังสือประวัติกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย  ภาคที่ 1 ค.ศ. 860 – ค.ศ.1917 สำนักพิมพ์ Olma-Press กรุงมอสโก จัดพิมพ์ในปีค.ศ. 2002 ในโอกาสครบรอบ 300 ปีการก่อตั้งกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย